วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

โอกาสและความสำเร็จ...!!

 

       ตลอดชีวิตผมพบพานเพื่อนและคนรู้จักหลายคนที่เก่ง ฉลาด เรียนดี แต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตในระดับที่พวกเขาสมควรได้รับ ด้วยมันสมอง วิธีคิด โลกทัศน์ก้าวไกล (และบางทีก้าวเกินกาล) ของพวกเขา น่าจะไปได้โลดกว่าที่เป็นมาก แต่กลับไปไม่ไกลกว่าคนที่เรียนด้อยกว่า

แน่ละ คำว่า ‘ความสำเร็จ’ นั้นเป็นอัตวิสัย เป้าหมายความสำเร็จของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ในที่นี้เราหมายถึงความสำเร็จระดับที่สมควรกับความสามารถ

ไม่ใช่คนเก่งทุกคนไปถึงจุดนั้นได้

ตรงกันข้าม เรียนเก่งได้ A ทุกวิชา จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งมากมายเป็นลูกน้องคนสอบตก

จากการสังเกตคนที่ผมรู้จักซึ่งประสบความสำเร็จแบบยั่งยืนแทบทั้งหมดไม่ใช่คนที่เข้าข่าย ‘เรียนเก่ง’ เลยสักคน

เก่งเป็นคนละเรื่องกับประสบความสำเร็จ

บางคนบอกว่าเป็นเรื่องดวง คนเราแข่งเรื่องวาสนากันไม่ได้

ส่วนหนึ่งอาจจะจริง เพราะดวงก็คือโอกาส โอกาสไม่ได้เลือกคนที่ความเก่งหรือความฉลาด ปัจจัยและตัวแปรของความสำเร็จมีมากมาย และหลายเรื่องก็เกินความสามารถของมนุษย์จะกำหนดควบคุม บางคนเก่งมาก แต่เหยียบก้อนขี้หมาอยู่เรื่อยๆ 

เคยไหมที่คุณขับรถออกจากบ้านไปจุดหมาย ทุกสี่แยกที่คุณผ่านเป็นไฟแดงตลอด คนส่วนใหญ่เจอไฟแดงสลับไฟเขียว แต่บางคนเจอทางโล่ง ไฟเขียวทุกแยก เป็นพวกอยู่ ‘at the right place’ + ‘at the right time’

แต่ดวงอย่างเดียวไม่สามารถนำพาสู่ความสำเร็จตลอดไป เพราะไฟจะไม่เขียวทุกแยกทั้งชีวิต ความสำเร็จที่ยั่งยืนต้องมีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ นั่นคือฝีมือ ฝีมือต่างหากที่จะพาเราฟันฝ่าไปถึงจุดสำเร็จระดับนั้น

คนที่ ‘เชลียร์’ จนได้ดี พูดมากจนก้าวหน้า เสนอหน้าจนขึ้นที่สูงได้ สามารถไปถึงเพียงจุดจุดหนึ่งเท่านั้น เพราะในสนามมาราธอนแห่งการงาน ต้องใช้ฝีมือ

ไฟไม่เขียวทุกแยกตลอดชีวิต

.………………..

สมัยผมเป็นเด็ก การ ‘ได้รับการศึกษา’ เป็นเรื่องใหญ่ ผู้มีการศึกษาถือว่าเป็นชนชั้นสูง มีชีวิตเหนือชาวบ้านทั่วไป เพราะหมายถึงฉลาดกว่า อนาคตดีกว่า

แต่คำว่า ‘ได้รับการศึกษา’ นี้กว้างกว่าการได้เข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ตรงกันข้าม การเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอาจทำให้ไม่ได้รับการศึกษา!

นักเขียนใหญ่ มาร์ก ทเวน จึงกล่าวว่า “ผมไม่เคยให้โรงเรียนมาก้าวก่ายการศึกษาของผม”

ความรู้มาจากการเรียนซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากโรงเรียน บทเรียนไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเสมอไป จะว่าไปแล้ว บทเรียนสำคัญๆ มักอยู่นอกห้องเรียน

หากไม่เปลี่ยนกรอบคิดนี้ ก็อาจหลงทางในวงกตของระบบการศึกษา และหลงคิดว่าหากเรียนเก่งจะประสบความสำเร็จ

คนเรียนเก่งอาจไม่ใช่ ‘คนเก่ง’ เสมอไป

คนเก่งก็อาจไม่ใช่คนประสบความสำเร็จ

แล้วทำไมคนเก่งไม่ประสบความสำเร็จ?

เพราะสองปัจจัย นอกกับใน

ปัจจัยภายนอกคือจังหวะไม่ลงตัว บางคนไปอยู่ผิดที่ผิดเวลา บางคนเกิดเร็วไปหน่อย บางครั้งเป็นเรื่องสภาพเศรษฐกิจการเมือง ฯลฯ

ปัจจัยภายในคืออีโก้กับปมด้อย

คนเก่งจำนวนมากมีอีโก้ว่าตัวเองเก่งโดยสัญชาตญาณ (ซึ่งเป็นความจริง!) แต่อีโก้นี้แหละที่บ่อยครั้งทำให้สะดุดขาตัวเอง เพราะทำงานกับคนอื่นยาก มองเห็นคนอื่นโง่กว่า เขาอาจไม่พูดออกมา แต่บางครั้งมันสะท้อนในสายตาหรือแววตาโดยไม่รู้ตัว 

เช่นกัน คนเก่งที่มีปมด้อย (inferiority complex) ก็ไปลำบาก เพราะเก่งแต่ไม่กล้าเสนอตัว คิดว่าตัวเองยังด้อยอยู่

.………………..

หลังจากทำงานมาราวสี่สิบปีและเฝ้าสังเกตโลกของคนทำงาน ผมมองว่า ‘ฝีมือ’ ประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ ได้แก่

- มีวิสัยทัศน์ โลกทัศน์กว้าง 

- วิเคราะห์เป็น อ่านเกมออก

- ความคิดสร้างสรรค์ มองนอกกรอบ

- มนุษย์สัมพันธ์ดี เป็นเพื่อนคนง่าย

- ตรงต่อเวลา

- วางใจได้

ทั้งหมดนี้ไม่มีสอนในโรงเรียน

ในบรรดาคุณสมบัติทั้งหมดนี้ ความสามารถวิเคราะห์สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ถ้าวิเคราะห์ไม่เป็น วิสัยทัศน์ก็แคบโดยปริยาย เดินทางมากก็เหมือนไม่ได้เดินทาง ไปนอกก็เหมือนอยู่บ้าน มองแต่ไม่เห็น

ความสามารถมองนอกกรอบก็สำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะหากไม่สามารถมองต่าง ก็ไม่มีอะไรต่างจากคนอีกหลายพันล้านคนข้างนอก

ความขยัน ความอดทน ก็สำคัญมาก แต่เป็นทัพหลัง

หากเปรียบเป็นรถยนต์ ทิศทางและการรู้จักภูมิประเทศอาจสำคัญกว่าขนาดเครื่องยนต์ ดังที่เราเห็นรถยนต์เครื่องแรงจำนวนมากลงเอยจอดตายข้างทาง

การจะมีทั้งฝีมือและอยู่ ‘at the right place’ + ‘at the right time’ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ ลับเขี้ยวเล็บตัวเองให้แหลมคม ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จในระดับสูงสุด ชีวิตก็ไม่ขี้เหร่แน่นอน เพราะทุกองค์กรต้องการคนเก่ง
 
.………………..

วินทร์ เลียววาริณ

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น