วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

ก.ล.ต. ไทยกล่าว Bitcoin Futures สามารถลงทุนได้ตามข้อตกลง ไม่ใช่การฟอกเงิน


ดูเหมือนว่าทาง ก.ล.ต. จะนำหน้าผู้ออกกฎหมายด้านการเงินในประเทศใกล้เคียงเราไปหลายก้าวในด้านการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในประเทศ หลังจากที่ได้ออกมากล่าวผ่านสื่อกระแสหลักว่าผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์สำหรับลงทุนนาม Bitcoin Futures นั้นสามารถลงทุนได้อย่างอิสระผ่านสถานบันตัวกลางระหว่างประเทศ และไม่ใช่การฟอกเงิน

โดยอ้างอิงจากสื่อกระแสหลัก VoiceTV นางทิพยสุดา ถาวรามร ​รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า ผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่เห็นในข่าวเป็น Bitcoin Futures (สัญญาซื้อขายล่วงหน้า) ที่ก่อนหน้านี้เปิดตัวไปแล้วในตลาด CME และ Cboe ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสองตลาดนี้เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศดังกล่าว อีกทั้งยังได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากคณะกรรมการกำกับตลาดฟิวเจอร์ส หรือ CFTC ดังนั้น นั่นจึงหมายความว่าบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยไทยสามารถให้บริการลูกค้าที่ต้องการลงทุนผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเทศสหรัฐฯได้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นตลาดที่อยู่ใต้กำกับขององค์กรสมาชิก International Organization of Securities Commissions (IOSCO) ที่มีข้อตกลงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

ที่น่าสนใจคือ ในรายงานยังได้มีการกล่าวถึงการที่ผลิตภัณฑ์ Bitcoin Futures “ไม่ใช่การฟอกเงิน” เนื่องจากว่ามีองค์กรที่กำกับนั้นได้มาตรฐานอยู่แล้ว อีกทั้งลักษณะของการซื้อขายสัญญานั้นไม่ใช่การซื้อขายเหรียญ BTC จริง ๆ จึงไม่สามารถใช้โอนมันออกนอกตลาดได้

โฆษณาที่คุณอาจสนใจ

กระนั้น ทาง ก.ล.ต. แห่งประเทศไทยก็ยังเตือนว่าตลาดดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในด้านความผันผวนของราคา แต่ไม่เพียงแค่นั้น ผู้คนยังสามารถ leverage (ยืมเงินเพื่อมาเทรดโดยอ้างอิงจากอัตรา margin ของเงินที่มีอยู่) ได้อีกด้วย ทำให้บริษัทตัวแทนผู้ให้บริการด้านการลงทุนฟิวเจอร์สในไทยต้องประเมินความเหมาะสมในการแนะนำลูกค้า โดยคำนึงถึงความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ ฐานะทางการเงิน และความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้าด้วย

สำหรับในไทยนั้น ปัจจุบันบริษัทตัวแทนที่ช่วยเหลือลูกค้าในไทยในการลงทุนตลาด Bitcoin Futures ในสหรัฐฯอย่างเป็นทางการแล้วนั้นมีแค่เจ้าเดียว ซึ่งก็คือ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย)

ขอบคุณภาพจาก Fluck Kie

วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561

เว็บเทรดคริปโต TDAX ประกาศแจกรางวัลจาก ZNode ให้ผู้ถือ ZCoin ที่อัตรา 70%

โฆษณาที่คุณอาจสนใจ

ในขณะที่หลาย ๆ ฝ่ายในประเทศไทยกำลังมองว่ากระแส cryptocurrency นั้นกำลังใกล้จะหมดอายุและสิ้นสุดลงแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการแข่งขันในวงการดังกล่าวในประเทศไทยนั้นกำลังจะเริ่มต้นขึ้น และดูเหมือนว่าจะรุนแรงเสียด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางสยามบล็อกเชนได้รายงานถึงการประกาศแบ่งรางวัลจาก Znode ของเว็บผู้ให้บริการซื้อขายเหรียญ cryptocurrency รายแรกของไทยอย่าง Bx ที่จะทำการแบ่งรางวัลจากการนำเอาเหรียญ ZCoin ของผู้ใช้งานทั้งหมดไปเปิด Znode มาแจกให้กับผู้ที่ถือ ZCoin บนเว็บ Bx ในอัตรา 50-50 โดยหากอ้างอิงจาก Twitter อย่างเป็นทางการของ Bx นั้น ปัจจุบันทางบริษัทมี Znode ที่เปิดจากเหรียญ Zcoin ของลูกค้าแล้วถึง 75 Znode ด้วยกัน

การเปิด Znode หรือ masternode นั้นคือการอุทิศตัว server ของตนเองให้กลายเป็น node ที่ช่วยในการเก็บข้อมูลประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดของเหรียญดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะเปิด masternode ได้นั้นจะต้องถือเหรียญดังกล่าวให้ถึงตามจำนวนที่ระบุไว้ (1,000 XZC ในกรณีของ Zcoin) และผู้ที่เปิด Znode นั้นก็จะได้รางวัลเป็นเหรียญคริปโต ซึ่งจะคล้าย ๆ กับการขุด

โฆษณาที่คุณอาจสนใจ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ทาง Bx ได้ประกาศจำนวนเรทการแบ่งรางวัลให้กับผู้ถือเหรียญ Zcoin ไปแล้วนั้น ทาง TDAX ก็ได้ออกมาประกาศต่อทันที โดยเผยว่าลูกค้าที่ทำการถือเหรียญ Zcoin ไว้บนเว็บเทรด TDAX นั้นก็จะได้รับรางวัลจาก Znode เช่นกัน แต่จะได้ในอัตราถึง 70% โดยจะแจกให้ในทุก ๆ 14 วัน ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม 2561 นี้ และทางผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องผ่านการยืนยันตัวตน KYC อีกด้วย โดยส่วนหนึ่งของประกาศกล่าวว่า

“Pooled Znodes จะเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม 2561 นี้! โดยลูกค้าที่ฝาก Zcoin (XZC) ไว้บน TDAX จะได้รับ rewards ทุกท่าน โดย rewards จะได้รับการแจกทุกๆ 14 วัน ซึ่งบัญชีผู้ใช้งานที่จะรับ rewards ไม่จำเป็นจะต้องผ่านการยืนยันตัวตน โดยท่านที่ได้ทำการฝาก Zcoin (XZC) ไว้บน TDAX จะได้รับ 70% ของ Znode rewards อีก 30% นั้นจะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นต้นทุนในการัน nodes (การดูแลความปลอดภัย, ค่าเซิฟเวอร์, ระบบ, การแบ็คอัพ และอื่นๆ)”

คุณปรมินทร์ อินโสม หรือผู้ก่อตั้ง ZCoin และ TDAX กล่าวให้สัมภาษณ์กับทางสยามบล็อกเชนว่าสาเหตุที่แบ่งให้กับลูกค้าถึง 70% นั้นเพราะทางเว็บได้ทำการคำนวณค่าบำรุงรักษาแล้ว และค้นพบว่า 30% ที่เหลือนั้นเพียงพอต่อต้นทุน โดยเขากล่าวว่า

“ส่วน 70% คิดว่าเป็นสัดส่วนที่ทางเราสามารถ cover ค่า server, network, backup, security ได้ครับ”

ปัจจุบันราคาเหรียญ ZCoin บนตลาดโลกนั้นอยู่ที่ 110.28 ดอลลาร์ และมีมูลค่าตลาดรวมที่ 416 ล้านดอลลาร์ เหรียญดังกล่าวอยู่อันดับที่ 52 ของโลก อ้างอิงจาก Coinmarketcap

ในขณะเดียวกัน ราคาบนตลาด TDAX นั้นอยู่ที่ 4,404 บาท หรือ 135.42 ดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าราคาตลาดโลกอยู่พอสมควร

รัฐบาลดิจิทัล, เศรษฐกิจแบบสตาร์ตอัพ: บทเรียนจากเอสโตเนีย

เอสโตเนียเป็นประเทศที่เราอาจไม่ได้รู้จักมากนักในอดีต แต่ในทุกวันนี้ พอๆ กับที่เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษา ต้องอ้างอิงไปที่ฟินแลนด์ ประเทศที่ร่ำลือกันว่ามีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก, เมื่อพูดถึง “รัฐบาลดิจิทัล” เราก็มักจะพบว่าชื่อของเอสโตเนียขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ เสมอ

กระทั่งเร็วๆ นี้ (ปลายเดือนมีนาคม) หน่วยงานของไทยอย่าง กสทช.ยังต้องจัดงานสัมมนาถอดบทเรียนจากประเทศเอสโตเนีย ในการใช้บล็อกเชนเข้ามาปฏิวัติวงการต่างๆ ทั้งงานราชการ รัฐบาล และเอกชน จนเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีภาคส่วนไหนในเอสโตเนียที่โลกดิจิทัลจะเข้าไปแตะไม่ถึง

หากนับการแยกขาดจากสหภาพโซเวียตเป็นก้าวที่หนึ่งแล้ว เอสโตเนียก็ถือเป็นประเทศใหม่ เพราะเพิ่งได้รับสถานะดังกล่าวในปี 1991 นี้เอง (นับถึงปัจจุบันก็ประมาณ 25-26 ปี) แต่หลังจากวันนั้น เอสโตเนียก็ปฏิรูปตนเองด้านดิจิทัลมาโดยตลอดจนเป็น “ที่หนึ่ง” ในหลายๆ อย่าง ก่อนที่จะเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปในปี 2004 ด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนประชากรที่มีไม่มาก (1.3 ล้านคน) และความเป็น “ประเทศใหม่” ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งสถาบันต่างๆ ในช่วงอินเตอร์เน็ตเฟื่องฟูพอดี, แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้นำของเอสโตเนียก็มีส่วนอย่างมากในการผลักดันเรื่องนี้

วิทยากรในวันงาน “บล็อกเชน เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก บทเรียนความสำเร็จจากกรณีศึกษารัฐบาล
เอสโตเนีย” จัดขึ้นโดย กสทช. คุณแอนนา พีเพอรัล (Anna Piperal) Manager Director ของ E-Estonia Showroom เริ่มการบรรยายด้วยการพูดถึงประเทศเอสโตเนียกว้างๆ ว่าเป็นประเทศที่ไม่ได้มีทรัพยากร ธรรมชาติอะไรโดดเด่นนัก แถมยังมีอากาศที่ย่ำแย่เกือบทั้งปีอีกด้วย แต่ด้วยผู้นำที่แข็งแกร่ง และมีความเป็นดิจิทัล จึงทำให้เอสโตเนียสามารถผลักดันกระบวนการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้โดยใช้เวลาไม่นาน (ประมาณ 20 ปี) จนปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Country) อันดับหนึ่ง

ตัวอย่าง ‘ความเจ๋ง’ ของเอสโตเนีย เช่น

-คุณสามารถเปิดบริษัทได้ใน 18 นาที และเปิดบริษัทที่ไหนก็ได้ในโลก (ไม่จำเป็นต้องไปยื่นที่ประเทศ
เอสโตเนีย) เพราะเอกสารต่างๆ นั้นออนไลน์ทั้งหมด คุณแอนนาบอกว่า “การทำธุรกิจนั้น ก็มีความยุ่งยากซับซ้อนเหมือนกันกับทุกที่แหละค่ะ แต่ถ้าเป็นเรื่องงานเอกสาร การดำเนินการต่างๆ ของเราก็จะง่ายกว่าที่อื่น”

-ธนาคารออนไลน์เกือบทั้งหมด ธุรกรรมเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ 99%

-สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ โดยมีการยื่นภาษีออนไลน์มากถึง 98% สามารถยื่นได้ภายใน 3 นาที มีผู้เขียนถึงวิธีการยื่นภาษีของเอสโตเนียในเว็บไซต์ The Atlantic ว่า ง่ายมาก เพียงกด Next, Next, Next ก็เสร็จแล้ว ต่างจากการยื่นภาษีของไทย ที่ถึงแม้ออนไลน์ได้ก็จริง แต่ว่าผู้กรอกแบบฟอร์มภาษีจะต้องกรอกข้อมูลจำนวนมาก เพราะข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ไม่ได้ “ไหลเวียน” ถึงกัน และยังเห็นว่าหลักฐานกระดาษ (เช่น ใบเสร็จ ใบลดหย่อนภาษี) นั้นยังเป็นหลักฐานที่สำคัญอันดับหนึ่ง

-เมื่อพูดถึง “หลักฐานกระดาษ” เอสโตเนียเห็นว่ากระดาษนั้นสำคัญเป็นลำดับสอง รองจากหลักฐานดิจิทัล มีการออกลายเซ็นดิจิทัล (DIgital Signature) ซึ่งมีพลังทางกฎหมายเท่ากับการเซ็นเอกสารที่ใช้หมึก มีความปลอดภัยสูงกว่า และคุณแอนนาอ้างว่า การปรับมาใช้ลายเซ็นดิจิทัลร่วมกับระบบดิจิทัลของหน่วยงานราชการนั้น มีผลทำให้ประหยัดงบประมาณคิดเป็น 2% ของ GDP ของประเทศเลยทีเดียว (เทียบจากจำนวนชั่วโมงของเจ้าพนักงานที่ลดลงไป)

-เอสโตเนียจัดการเลือกตั้งออนไลน์ (i-voting) เป็นประเทศแรกในโลก มีการลงคะแนนเสียงออนไลน์มากถึง 30% (เริ่ม i-voting ปี 2005)

-ตำรวจของเอสโตเนียทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น 50 เท่า พวกเขาไม่สามารถ “สุ่มตรวจ” รถยนต์ได้ หากไม่มีเหตุผล สามารถตัดสินใจว่าจะตรวจหรือไม่ตรวจใครคนใดคนหนึ่งได้รวดเร็ว เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลเบื้องหลังของคุณผ่านทางฐานข้อมูลได้ทันที

-การเคลื่อนไหลไปมาอย่างอิสระ หรือมีแรงเสียดทานน้อยที่สุดของข้อมูล ทำให้เกิดบริการที่น่า “อัศจรรย์ใจ” หลายอย่างเช่น เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งคลอดลูก โรงพยาบาลนั้นๆ จะส่งข้อมูลลูกที่เกิดใหม่ไปยังระบบราชการและรัฐบาลทันที ลูกจะมี ID (หมายเลขประจำตัว) ทันที และระบบก็เชื่อมกันขนาดที่ว่าจะสามารถคำนวณสิทธิ ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงส่วนลดหย่อนภาษีของผู้หญิงคนนี้ได้ใหม่ทันที ระบบโรงพยาบาลดิจิทัลทำให้มีความแออัดยัดเยียดในอาคารโรงพยาบาลลดลง 3 เท่า จากที่ก่อนหน้านี้คนไข้จะต้องมาต่อคิวเพื่อรับใบสั่งยา หรือเอกสารทางการแพทย์ต่างๆ แต่ตอนนี้สามารถทำอย่างเดียวกันผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้แล้ว

-กระทั่งเรื่องง่ายๆ อย่างเช่น การขึ้นรถสาธารณะ หรือการจ่ายค่าจอดรถตามมิเตอร์สาธารณะ ก็สามารถทำได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเช่นกัน

-ยังไม่นับกับการที่เอสโตเนียออกโครงการ “พลเมืองดิจิทัล” ให้กับคนทั่วไปทั่วโลก โดยคุณก็สามารถเข้าไปสมัครเป็นพลเมืองดิจิทัลของเอสโตเนีย (ซึ่งจะทำธุรกรรมต่างๆ ออนไลน์ได้ ทำธุระกับภาครัฐได้) โดยดูข้อมูลได้จาก https://e-estonia.com/e-residents/about แน่นอนว่าการพัฒนาประเทศมาสู่จุดที่ “ทุกอย่างอยู่บนอินเตอร์เน็ต” ได้นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยความเข้าใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวเจ้าหน้าที่ นักออกแบบระบบ และประชาชน

มีคำกล่าวว่า “เอสโตเนียเป็นประเทศสตาร์ตอัพ-ไม่ใช่เพียงในการทำธุรกรรมต่างๆ เท่านั้น-แต่เป็นประเทศสตาร์ตอัพตั้งแต่วิธีคิด (mindset) เลยทีเดียว”

หากจะหวังให้ประเทศไทยมี “เศรษฐกิจสตาร์ต อัพ” เป็น “รัฐบาลดิจิทัล” ไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ก็อาจต้องเริ่มที่วิธีคิด ตั้งแต่ส่วนปกครองไล่ลงมาก่อนเช่นกัน เช่น เปิดข้อมูลภาครัฐให้สามารถเข้าถึงได้ทั่วไป ให้มีการแข่งขันการพัฒนาระบบเข้าไปเชื่อมต่ออย่างอิสระ ไม่จำกัดเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่เท่านั้น และมีความเชื่อมั่นต่อประชาชน

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล