รัฐบาลดิจิทัล, เศรษฐกิจแบบสตาร์ตอัพ: บทเรียนจากเอสโตเนีย
เอสโตเนียเป็นประเทศที่เราอาจไม่ได้รู้จักมากนักในอดีต แต่ในทุกวันนี้ พอๆ กับที่เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษา ต้องอ้างอิงไปที่ฟินแลนด์ ประเทศที่ร่ำลือกันว่ามีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก, เมื่อพูดถึง “รัฐบาลดิจิทัล” เราก็มักจะพบว่าชื่อของเอสโตเนียขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ เสมอ
กระทั่งเร็วๆ นี้ (ปลายเดือนมีนาคม) หน่วยงานของไทยอย่าง กสทช.ยังต้องจัดงานสัมมนาถอดบทเรียนจากประเทศเอสโตเนีย ในการใช้บล็อกเชนเข้ามาปฏิวัติวงการต่างๆ ทั้งงานราชการ รัฐบาล และเอกชน จนเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีภาคส่วนไหนในเอสโตเนียที่โลกดิจิทัลจะเข้าไปแตะไม่ถึง
หากนับการแยกขาดจากสหภาพโซเวียตเป็นก้าวที่หนึ่งแล้ว เอสโตเนียก็ถือเป็นประเทศใหม่ เพราะเพิ่งได้รับสถานะดังกล่าวในปี 1991 นี้เอง (นับถึงปัจจุบันก็ประมาณ 25-26 ปี) แต่หลังจากวันนั้น เอสโตเนียก็ปฏิรูปตนเองด้านดิจิทัลมาโดยตลอดจนเป็น “ที่หนึ่ง” ในหลายๆ อย่าง ก่อนที่จะเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปในปี 2004 ด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนประชากรที่มีไม่มาก (1.3 ล้านคน) และความเป็น “ประเทศใหม่” ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งสถาบันต่างๆ ในช่วงอินเตอร์เน็ตเฟื่องฟูพอดี, แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้นำของเอสโตเนียก็มีส่วนอย่างมากในการผลักดันเรื่องนี้
วิทยากรในวันงาน “บล็อกเชน เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก บทเรียนความสำเร็จจากกรณีศึกษารัฐบาล
เอสโตเนีย” จัดขึ้นโดย กสทช. คุณแอนนา พีเพอรัล (Anna Piperal) Manager Director ของ E-Estonia Showroom เริ่มการบรรยายด้วยการพูดถึงประเทศเอสโตเนียกว้างๆ ว่าเป็นประเทศที่ไม่ได้มีทรัพยากร ธรรมชาติอะไรโดดเด่นนัก แถมยังมีอากาศที่ย่ำแย่เกือบทั้งปีอีกด้วย แต่ด้วยผู้นำที่แข็งแกร่ง และมีความเป็นดิจิทัล จึงทำให้เอสโตเนียสามารถผลักดันกระบวนการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้โดยใช้เวลาไม่นาน (ประมาณ 20 ปี) จนปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Country) อันดับหนึ่ง
ตัวอย่าง ‘ความเจ๋ง’ ของเอสโตเนีย เช่น
-คุณสามารถเปิดบริษัทได้ใน 18 นาที และเปิดบริษัทที่ไหนก็ได้ในโลก (ไม่จำเป็นต้องไปยื่นที่ประเทศ
เอสโตเนีย) เพราะเอกสารต่างๆ นั้นออนไลน์ทั้งหมด คุณแอนนาบอกว่า “การทำธุรกิจนั้น ก็มีความยุ่งยากซับซ้อนเหมือนกันกับทุกที่แหละค่ะ แต่ถ้าเป็นเรื่องงานเอกสาร การดำเนินการต่างๆ ของเราก็จะง่ายกว่าที่อื่น”
-ธนาคารออนไลน์เกือบทั้งหมด ธุรกรรมเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ 99%
-สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ โดยมีการยื่นภาษีออนไลน์มากถึง 98% สามารถยื่นได้ภายใน 3 นาที มีผู้เขียนถึงวิธีการยื่นภาษีของเอสโตเนียในเว็บไซต์ The Atlantic ว่า ง่ายมาก เพียงกด Next, Next, Next ก็เสร็จแล้ว ต่างจากการยื่นภาษีของไทย ที่ถึงแม้ออนไลน์ได้ก็จริง แต่ว่าผู้กรอกแบบฟอร์มภาษีจะต้องกรอกข้อมูลจำนวนมาก เพราะข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ไม่ได้ “ไหลเวียน” ถึงกัน และยังเห็นว่าหลักฐานกระดาษ (เช่น ใบเสร็จ ใบลดหย่อนภาษี) นั้นยังเป็นหลักฐานที่สำคัญอันดับหนึ่ง
-เมื่อพูดถึง “หลักฐานกระดาษ” เอสโตเนียเห็นว่ากระดาษนั้นสำคัญเป็นลำดับสอง รองจากหลักฐานดิจิทัล มีการออกลายเซ็นดิจิทัล (DIgital Signature) ซึ่งมีพลังทางกฎหมายเท่ากับการเซ็นเอกสารที่ใช้หมึก มีความปลอดภัยสูงกว่า และคุณแอนนาอ้างว่า การปรับมาใช้ลายเซ็นดิจิทัลร่วมกับระบบดิจิทัลของหน่วยงานราชการนั้น มีผลทำให้ประหยัดงบประมาณคิดเป็น 2% ของ GDP ของประเทศเลยทีเดียว (เทียบจากจำนวนชั่วโมงของเจ้าพนักงานที่ลดลงไป)
-เอสโตเนียจัดการเลือกตั้งออนไลน์ (i-voting) เป็นประเทศแรกในโลก มีการลงคะแนนเสียงออนไลน์มากถึง 30% (เริ่ม i-voting ปี 2005)
-ตำรวจของเอสโตเนียทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น 50 เท่า พวกเขาไม่สามารถ “สุ่มตรวจ” รถยนต์ได้ หากไม่มีเหตุผล สามารถตัดสินใจว่าจะตรวจหรือไม่ตรวจใครคนใดคนหนึ่งได้รวดเร็ว เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลเบื้องหลังของคุณผ่านทางฐานข้อมูลได้ทันที
-การเคลื่อนไหลไปมาอย่างอิสระ หรือมีแรงเสียดทานน้อยที่สุดของข้อมูล ทำให้เกิดบริการที่น่า “อัศจรรย์ใจ” หลายอย่างเช่น เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งคลอดลูก โรงพยาบาลนั้นๆ จะส่งข้อมูลลูกที่เกิดใหม่ไปยังระบบราชการและรัฐบาลทันที ลูกจะมี ID (หมายเลขประจำตัว) ทันที และระบบก็เชื่อมกันขนาดที่ว่าจะสามารถคำนวณสิทธิ ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงส่วนลดหย่อนภาษีของผู้หญิงคนนี้ได้ใหม่ทันที ระบบโรงพยาบาลดิจิทัลทำให้มีความแออัดยัดเยียดในอาคารโรงพยาบาลลดลง 3 เท่า จากที่ก่อนหน้านี้คนไข้จะต้องมาต่อคิวเพื่อรับใบสั่งยา หรือเอกสารทางการแพทย์ต่างๆ แต่ตอนนี้สามารถทำอย่างเดียวกันผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้แล้ว
-กระทั่งเรื่องง่ายๆ อย่างเช่น การขึ้นรถสาธารณะ หรือการจ่ายค่าจอดรถตามมิเตอร์สาธารณะ ก็สามารถทำได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเช่นกัน
-ยังไม่นับกับการที่เอสโตเนียออกโครงการ “พลเมืองดิจิทัล” ให้กับคนทั่วไปทั่วโลก โดยคุณก็สามารถเข้าไปสมัครเป็นพลเมืองดิจิทัลของเอสโตเนีย (ซึ่งจะทำธุรกรรมต่างๆ ออนไลน์ได้ ทำธุระกับภาครัฐได้) โดยดูข้อมูลได้จาก https://e-estonia.com/e-residents/about แน่นอนว่าการพัฒนาประเทศมาสู่จุดที่ “ทุกอย่างอยู่บนอินเตอร์เน็ต” ได้นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยความเข้าใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวเจ้าหน้าที่ นักออกแบบระบบ และประชาชน
มีคำกล่าวว่า “เอสโตเนียเป็นประเทศสตาร์ตอัพ-ไม่ใช่เพียงในการทำธุรกรรมต่างๆ เท่านั้น-แต่เป็นประเทศสตาร์ตอัพตั้งแต่วิธีคิด (mindset) เลยทีเดียว”
หากจะหวังให้ประเทศไทยมี “เศรษฐกิจสตาร์ต อัพ” เป็น “รัฐบาลดิจิทัล” ไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ก็อาจต้องเริ่มที่วิธีคิด ตั้งแต่ส่วนปกครองไล่ลงมาก่อนเช่นกัน เช่น เปิดข้อมูลภาครัฐให้สามารถเข้าถึงได้ทั่วไป ให้มีการแข่งขันการพัฒนาระบบเข้าไปเชื่อมต่ออย่างอิสระ ไม่จำกัดเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่เท่านั้น และมีความเชื่อมั่นต่อประชาชน
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น