วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2560

โลกไร้เงินสด

จะเป็นอย่างไรเมื่อสังคมไร้เงินสด (CashlessSociety) เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย?




ตื่นเช้ามาเดินทางไปทำงานด้วยรถไฟฟ้า BTSใช้โทรศัพท์มือถือแตะเบาๆที่ประตูทางเข้า ค่าโดยสารก็ถูกเรียกเก็บ โดยหักจากวงเงินที่ผูกไว้กับบัตรแรบบิท ระหว่างทางแวะซื้อกาแฟที่ Café Amazon ใช้บัตร PTT Blue Card แตะเบาๆ เพื่อตัดแต้มคะแนนสะสมที่ได้จากการเติมน้ำมันที่ปั๊ม ปตท. พอถึงพักเที่ยงก็ไปกินข้าวที่ฟู้ดคอร์ทใต้ตึก ใช้บัตรพนักงานกดตึ๊ดๆ เพื่อไปหักเงินในบัญชีที่ผูกไว้กับบัญชีเงินเดือน ตกเย็นแวะไปดูหนังที่เมเจอร์ ชำระเงินด้วยบัตร M-Cash ที่เติมเงินไว้แล้วก่อนกลับแวะซื้อของที่ Tops Supermarket ควักโทรศัพท์มือถือขึ้นมาสไลด์นิ้วมือขึ้นเพื่อเปิดแอปฯ Samsung Pay ยืนยันการชำระเงินด้วยลายนิ้วมือที่ผูกไว้กับบัตรเครดิตแล้วค่อยแตะสมาร์ทโฟนบนเครื่องรับชำระเงิน ขากลับเรียกรถ Uber มารับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตที่ผูกไว้กับแอปฯ สรุปทั้งวันไม่ได้ควักเงินสดออกมาใช้เลยสักบาท

นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้ว เพียงแต่ระบบการชำระเงินของไทยนั้นมีความหลากหลายมากถึงมากที่สุด ถ้าไม่นับการชำระเงินด้วยเงินสดผ่านเคาน์เตอร์แล้ว คนไทยจะต้องเปิดกันกี่บัญชี ถือกันกี่บัตร สมัครสมาชิกกันกี่ค่าย โหลดกันกี่แอปฯ ในเมื่อระบบของแต่ละธนาคาร ค่ายโทรศัพท์มือถือ และแบรนด์ต่างๆ มีการเชื่อมต่อกันแบบไม่เบ็ดเสร็จ จนบัดนี้บัตรแมงมุมที่คาดว่าจะมาตอบโจทย์เรื่องการเดินทางทั้งบนดินและใต้ดินก็ยังไม่แล้วเสร็จอย่างที่ตั้งใจไว้

รู้ทั้งรู้ว่าเทรนด์ Cashless Society นี่มาแน่ เพราะบางประเทศในยุโรปก็เลิกผลิตธนบัตรกันแล้ว คนอเมริกันนั้นคุ้นเคยกับการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมานานแล้ว ส่วนพี่จีนก็ใช้ WeChat Pay และ Alipay สำหรับการทำธุรกรรมจนเกือบจะกลายเป็นช่องทางหลักของธุรกิจบริการและการค้าออนไลน์ไปแล้ว จนล่าสุดอินเดียถูกมองว่าน่าจะเป็นประเทศแรกที่สามารถผลักดันจนกลายเป็นสังคมไร้เงินสดโดยสมบูรณ์ได้ก่อนใครเพื่อน

คุณอาจนึกสงสัยว่าทำไมรัฐบาลแต่ละประเทศจึงหันมาสนับสนุนนโยบายนี้กันนัก?คำตอบของคำถามนี้คือ ข้อดีของ Cashless Society คือนอกเหนือจะป้องกันการถูกโกงจากเงินปลอมและการโจรกรรมแล้ว การทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลจะทำให้สามารถตรวจสอบเส้นทางการไหลผ่านของเงินได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ รัฐสามารถสกัดกั้นการฟอกเงินและสามารถเรียกเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากการประเมินปริมาณธุรกรรมที่ทำผ่านระบบออนไลน์ แต่ที่เรื่องนี้ยังไปไม่ถึงไหน ก็เพราะความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่คนที่มีรายได้น้อยยังไม่สามารถเข้าถึงระบบได้ (คนกลุ่มนี้ไม่มีเงินสดเหลืออยู่ในมือ มีแต่หนี้สินที่มีอยู่เต็มสองมือ) ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลที่ยังจำกัดอยู่ในวงที่ค่อนข้างแคบ อีกทั้งรัฐก็ยังต้องเรียนรู้เพื่อที่จะแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่  

แรงผลักจากภายนอกและภายในที่มากพอจะเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้สังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรมได้ ปัจจัยที่ว่ามีอยู่ด้วยกัน 3C คือ Convenience ความสะดวกสบายในการเข้าถึงและการใช้งานที่ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน Customer Benefits สิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับจะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนไทยยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคุ้มค่า หรือความประหยัดคือประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม Critical Mass การใช้งานที่แพร่หลายจนถึงจุดที่ว่า ‘ใครๆ ก็ใช้กัน’ จะทำให้คนที่กล้าๆ กลัวๆ หันมาใช้ตามกัน ทีนี้ก็ต้องไปฟาดฟันกันว่าระบบ Digital Currency ของใครมีความเจ๋งกว่า คนใช้เยอะกว่า จนกลายเป็นมาตรฐานสกุลเงินใหม่สำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ  

เชื่อแน่ว่าเศรษฐกิจไร้เงินสด หรือ Cashless Economy มันจะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย อาจจะไม่เร็วนัก แต่มันจะเริ่มมีผลต่อชีวิตประจำวันของเราทีละนิดละน้อยโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวเมื่อเราสามารถทำให้มันสะดวก คุ้มค่า และแพร่หลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น